#Email หลักการและเหตุผล

จากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในแถบพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิต ทรัพย์สิน รวมถึงสภาพความเป็นอยู สังคมวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งสภาพจิตใจของเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ยังคงต้องการความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งทางภาครัฐ หน่วยงานองค์กรสาธารณะ มูลนิธิ องค์กรการกุศล ต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ได้ให้ความช่วยเหลือ จากประสบการณ์ที่ทางคณะผู้ก่อตั้งโครงการ มูลนิธิฯบ้านเพื่อชีวิตได้ร่วมงานกับองค์กรต่าง ๆ ในแถบพื้นที่จังหวัดพังงาและภูเก็ต ยังขาดสิ่งที่สำคัญคือ การร่วมมือกันเพื่อสร้าง ความสุขทางด้านจิตใจ สังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ในรูปแบบของครอบครัว ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วม มีความรัก ความเข้าใจดูแลซึ่งกันและกัน อันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน ไม่เพียงแต่เด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจาก สึนามิเท่านั้น จากสภาพสังคมพื้นฐาน ผู้ที่ยากไร้ เด็กกำพร้า เด็กที่ถูกทารุณกรรม เด็กข้างถนน คนยากจนในพื้นที่ก็จำเป็นที่จะได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน เป็นความโชคดีของปวงชนชาวไทยที่มีองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นนักคิดนักพัฒนา ดังแนวพระราชดำริ เศรษฐกิจพอเพียง


ซึ่งทางคณะผู้ดำเนินโครงการน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานโครงการบ้านเพื่อชีวิตควบคู่ไปกับวิถีชีวิตท้องถิ่น งานที่ทำให้เกิดรายได้ในท้องที การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ พืชผักสวนครัว การประมงแบบพอเพียง  บ้านพักวิถีชีวิต ฯลฯ

ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถ อยู่ได้ด้วยตัวเอง สร้างรายได้เพื่อเด็กและผู้ยากไร้ สำหรับเป็นกองทุนชีวิตเท่านั้น แต่จะเป็นแหล่งที่ให้ความรู้ ทักษะชีวิต ให้กับเด็กและผู้ใหญ่อีกทั้งยังปลูกฝังให้เด็กมีความเป็นนักอนุรักษ์ ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงมีความรู้ความสามารถหลาย ๆ ด้าน และสามารถอยู่ได้ อย่างบูรณาการเพื่อเป็นประโยชน์และพัฒนาสังคมต่อไป อันเป็นความคาดหวังอย่างยิ่งของผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านเพื่อชีวิตพังงา

ความเป็นมา และ กลุ่มเป้าหมาย

มูลนิธิบ้านเพื่อชีวิตพังงา เริ่มต้นก่อตั้งจาก “โครงการบ้านเพื่อชีวิต” ซึ่งรวมระยะเวลาดำเนินการถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7 ปี เริ่มต้นโครงการในปี พ.ศ. 2549 จากบ้านหลังเล็ก ๆ มีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งห้าคน และเด็กจำนวนสิบคน ซึ่งเป็นเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสึนาม กิจกรรมดำเนินในลักษณะครอบครัว ดูแลความเป็นอยู่ของเด็กๆ เป็นหลัก เช่นให้ที่พักอาศัย ให้การศึกษา จัดหาเงินทุนเลี้ยงดูอาหารและสุขภาพ เติมเต็ม บำบัดแก่เด็ก ๆด้วยความรักและเอาใจใส่ อีกทั้งเสริมสร้างกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้แก่เด็ก ๆ หลังจากนั้นเป็นเวลาสองปี ในปี พ.ศ. 2553 จึงได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิถูกต้องตามกฎหมาย ดำเนินกิจกรรมตามหลักการและเหตุผล เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เด็กผู้ด้อยโอกาส จนถึงปัจจุบัน

กลุ่มเป้าหมาย

มูลนิธิบ้านเพื่อชีวิตในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงดำเนินงาน และยังมีความต้องการ ทางด้านการเงินเพื่อดูแลเด็ก ซึ่งปัจจุบันสามารถดูแลได้ 25 คน ซึ่งเด็กที่ให้การช่วยเหลือและเป็นกลุ่มเป้าหมายคือ

1. เด็กกำพร้า เด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยสึนามิ

2. เด็กกำพร้ายากไร้ด้อยโอกาส มีปัญหาในครอบครัว

3. เด็กที่ถูกทารุณกรรมและถูกใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม

Our Mission พันธกิจ Unsere Aufgabe